หมวดหมู่สินค้า

พระเครื่อง

พระลือ หน้ามงคล กรุวัดประตูลี้ จ.ลำพูน ศิลปะสกุลช่างหริภุญไชย

พระลือ หน้ามงคล กรุวัดประตูลี้ จ.ลำพูน ศิลปะสกุลช่างหริภุญไชย

ยี่ห้อ :

พระลือ หน้ามงคล กรุวัดประตูลี้ จ.ลำพูน ศิลปะสกุลช่างหริภุญไชย

สภาพสินค้า :

สินค้ามือสอง

ราคา :

120,000.00

บาท

วันที่เริ่ม :

1 มิ.ย. 2553 11:54:22

วันที่อัพเดท :

15 ก.ย. 2553 17:39:59

ip :

58.11.66.xx

ปิดการขายสินค้า

ข้อมูลร้าน

ชื่อผู้ขาย :

-

จังหวัด :

-

จำนวนสินค้า :

0 ชิ้น

คนเข้าชม :

-

อัพเดทร้าน :

-

เปิดร้าน :

-

shop free

รายละเอียดสินค้า

พระลือ ลักษณะ: พระเนื้อดิน พบหลายสี เช่นสีขาว สีพิกุล สีเขียว และสีขาว องค์พระมีขนาดใหญ่กว่าพระคง แต่ความชัดเจนและความปราณีตแตกต่างจากพระคง นั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย รอบองค์พระมีประภามณฑลโดยรอบ ขนาด ฐานกว้าง 1.8 ซม. สูง 2.3 ซม. พบที่กรุวัดประตู้ลี้ และวัดดอนแก้ว เป็นพระที่มีจำนวนไม่มากนัก พุทธคุณ: ยอดเยี่ยมในทางแคล้วคลาดรองจากพระรอด พระลือหน้ามงคล..ศิลปะสกุลช่างหริภุญไชย ถ้า ตำนานที่เขียนขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-21 จะมีประโยชน์อยู่บ้าง เราก็ได้แต่หวังว่าเรื่องราวที่กล่าวในตำนานเหนือว่า จตุรพุทธปราการ สร้างในรัชสมัย พระนางจามเทวี นั้น จะมีเค้าโครงความจริงสักเล็กน้อย ตำนานเหนือดังกล่าวนี้ได้แก่ ชินกาลมาลีปกรณ์, จามเทวีวงศ์ และ มูลศาสนา ไม่นับหนังสือใบลานชุดอื่นๆ ซึ่งยังรอการยืนยันจากนักวิชาการว่า จะมีอายุความเก่าแก่สูงกว่าศตวรรษดังกล่าวหรือไม่ จตุรพุทธปราการ หมายถึง กำแพงแห่งพุทธศาสนา 4 ที่สมัยปัจจุบันเราเข้าใจกันเอาง่ายๆ ว่า วัด 4 มุมเมือง อันได้แก่ วัดมหาวัน, วัดพระคง, วัดดอนแก้ว และ วัดประตูลี้ หรือ วัดกู่เหล็ก ทั้งนี้ก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า การสร้างเมืองในสมัยโบราณนั้นจะเริ่มที่การสร้างวัดก่อน คำว่า “พระลือ” เดิมเขียนตามอักขระไทยเดิมว่า “พระฤา” แปลว่า พระเลื่องลือ แต่จะเลื่องลือหรือโด่งดังในด้านใดนั้นไม่มีใครทราบ ถ้าจะเดา เนื่องจากพระลือซึ่งยกย่องในตำนานว่าเป็น พระสักรพุทธปฏิมา ขึ้น กรุวัดประตูลี้ และ วัดกู่เหล็ก เป็นวัดร้างกลางทุ่ง ส่วนวัดประตูลี้ชื่อก็บอกแล้วว่า เป็นประตูเมืองหนีภัยอยู่ทางทิศใต้ของเมืองละปูน หรือเมืองหริภุญไชย ดังนั้น พระลือ อาจจะโด่งดังในด้านแคล้วคลาดเช่นเดียวกับ พระรอด ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็อาจเป็นชื่อที่ตั้งไว้เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พญาฤาไทราช หรือ พระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งทรงโปรดให้ พระสุมนเถระ มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์ ในรัชสมัย พระเจ้ากือนา (ไม่ใช่ “ถือนา” คำว่า “กือนา” เป็นภาษาลานนา แปลว่า “คูนา”) พระฤาไทราช หรือ พญาฤาไทราช ได้รับความศรัทธาและการยอมรับนับถือจากชาวลานนาเป็นอย่างสูง เช่นเดียวกับ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในฐานะพระสหายของ พ่อขุนเม็งราย ปฐมกษัตริย์ของพิงค์พระนคร หรือนครเชียงใหม่เดิม ดังนั้นชื่อ “พระลือ” ก็อาจจะเป็นชื่อที่ได้มาจากพระนาม “พระฤาไทราช” ตามความคาดเดาก็ได้ พระลือ หน้ามงคล กรุวัดประตูลี้ จ.ลำพูน พระลือ หน้ามงคล กรุวัดประตูลี้ จ.ลำพูน พระลือ หน้ามงคล กรุวัดประตูลี้ จ.ลำพูน พระลือ หน้ามงคล กรุวัดประตูลี้ จ.ลำพูน ปัจจุบันเราจัดให้พระมารวิชัยประทับนั่ง ขัดเพชร บนฐานบัวใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ พิมพ์นี้เข้าอยู่ในชุด “พระสกุลลำพูน” ด้วย ทั้งนี้เพราะโดยรวมแล้วเป็นพระมารวิชัยนั่งอยู่ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ อันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นสำคัญของพระสกุลลำพูนแทบทุกพิมพ์นั่นกระมัง พระลือมีพระพักตร์กลม รายละเอียดบนพระพักตร์สึกกร่อนจนเหลือเค้าพระเนตร พระกรรณ พระโอษฐ์ และไรพระศกเพียงรางๆ อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบ พระลือหน้ายักษ์ และ พระเลี่ยง พิมพ์ใหญ่ ซึ่งขึ้นกรุเดี๋ยวนี้มาด้วยกันก็พบว่า ปรากฏมีเม็ดพระศกโต ไม่มีต่อมพระเมาฬี นอกจาก “จิ่ม” เล็กแหลมนิดเดียว เช่นเดียวกับพระคง พุทธลักษณะส่วนใหญ่จะเหมือนๆ กัน กล่าวคือ พระวรกายค่อนข้างล่ำ พระอุระผึ่งผาย พระอังสะใหญ่ ปรากฏขอบสบงเป็นสันเห็นไรแทบทุกองค์ ลักษณะบัวที่ฐานเป็นบัวเหลี่ยม แตกต่างจากลักษณะบัวที่ฐานของพระคง ซึ่งเป็นบัวเม็ด มีเส้นนูนเล็กคั่นกึ่งกลางฐานล่างซึ่งเป็นกลีบบัวอีกชั้นหนึ่ง หรือถ้าจะเรียกว่าเป็น ฐานบัวคว่ำบัวหงายกลีบใหญ่ ก็คงไม่ผิดอะไร ใต้พระเพลา (ตัก) มีผ้ารองนั่งนูนเป็นก้อน รอบพระวรกายปรากฏเส้นประภามณฑลเล็กเรียวแต่นูน วาดไปตามส่วนโค้งของพระวรกายในระยะขนานห่างออกมาเล็กน้อย พิมพ์ทรงแบบเดียวกับพิมพ์ทรงของพระคง เพียงแต่ชะลูดกว่าไม่มาก โพธิ์พฤกษ์อยู่ภายในกรอบพิมพ์ทรง โครงสร้างของก้านและใบเป็นแบบเดียวกันกับของพระคง พระรอดและพิมพ์อื่นๆ โดยรวม ต่างไปเล็กน้อยด้วยฝีมือและเชิงช่างเท่านั้น พุทธลักษณะและท่วงทีทางศิลปะก็เหมือนกันทุกประการ โดยเฉพาะพระคง กล่าวได้เลยว่า พระลือ ก็คือ พระคง อีกพิมพ์หนึ่งนั่นเอง ขนาดพระลือวัดที่ฐานกว้างประมาณ 1.5 ซม. สูง 2-3 ซม. โตกว่าพระคงนิดเดียว ลักษณะฝีมืออ่อนกว่าพระคงไม่ไกล โพธิ์พฤกษ์พระลือแสดงการคลี่คลายจากแบบธรรมชาติอย่างของพระคงเช่นเดียวกับ ของพระรอด จึงตัดสินแบบฟันธงได้เลยว่า อายุความเก่าแก่ก็คงจะอ่อนกว่าพระคงด้วย แต่ก็คงอยู่ในระยะแค่ร่วมสมัยกันเท่านั้น ไม่ได้อ่อนมากมายอะไร พระลือดังกล่าวมานี้หมายถึง พระลือ หน้ามงคล ซึ่งผู้เขียนไม่ค่อยจะเห็นด้วยในพยางค์ว่า “หน้ามงคล” ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า พระพักตร์ของพระลือพิมพ์แรกนี้ไม่มีจุดไหนที่จะบ่งบอกว่ามีลักษณะเป็นหน้า มงคล ผู้ตั้งชื่อคงเลียนแบบนักเลงพระภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดสุพรรณบุรี ชอบไปตั้งชื่อ หน้าหนู, หน้านาง, หน้าแก่, หน้ายักษ์, หน้ามงคล เพียงเพื่อจะลากดึงเข้าไปอยู่ในสกุลช่างอู่ทองแค่นั้น ยกตัวอย่าง พระหูยาน พิมพ์ใหญ่ เห็นชัดๆ ว่าได้มีหน้ายักษ์สักหน่อย อยู่ในลักษณะ “ยิ้มแบบบายน” แท้ๆ ยังอุตส่าห์ไปตั้งชื่อพระว่า หน้ายักษ์ ทั้งที่ผิดแล้วยังไม่ยอมรับ เดี๋ยวนี้โดยทั่วไป เขาก็เรียก พิมพ์ใหญ่ เฉยๆ ก็ยังดื้อเรียก พระหูยาน หน้ายักษ์ อยู่ในกลุ่มไม่กี่คน การเรียกชื่อ พระลือ หน้ามงคล นั้นคงจะเรียกอย่างนี้ เพราะมีอีกพิมพ์หนึ่งเรียกกันว่า หน้ายักษ์ มาแต่เดิม เพื่อจะให้เข้าคู่กันผ่าไปเรียกอีกพิมพ์หนึ่ง หน้ามงคล ก็ตอนเป็นเด็กๆ ประมาณเกือบ 50 ปีก่อน ได้ยินผู้ใหญ่เรียกแค่ พระลือ กับ พระลือหน้ายักษ์ เท่านั้น อีกพิมพ์หนึ่งท่านเรียกกันอยู่ก่อนแล้วด้วยว่า พระลือโขง พระลือหน้ายักษ์นั้นประวัติว่าขึ้นกรุมาพร้อมกับ พระเลี่ยง หรือ พระเหลี้ยม พิมพ์เล็ก และ พระเลี่ยงหลวง หรือ พระเหลี้ยม พิมพ์ใหญ่ การขึ้นกรุของพระลือ หน้ายักษ์ เล่ากันว่า ไม่ได้มีพระขึ้นกรุมาด้วย ได้แต่แม่พิมพ์มา แล้วก็มีการเอาแม่พิมพ์มาใช้งาน โดยกดพิมพ์พระออกมาได้ พระลือ หน้ายักษ์ ยุคหลัง อะไรทำนองนี้ ก็ฟังหูไว้หูก่อน ปกติก็ไม่ค่อยได้เห็น พระลือ หน้ายักษ์ อยู่แล้ว อาจสร้างไว้น้อยก็ได้ แต่ประโยชน์จากพิมพ์ที่สร้างยุคหลังก็พอจะมีบ้าง เพราะกดมาจากแม่พิมพ์เก่า คือ มีพิมพ์ทรงและพุทธลักษณะแบบเดีวกัน ต่างกันตรงที่ โพธิ์พฤกษ์เป็นแบบธรรมชาติ เหมือนของ พระสาม กรุวัดดอนแก้ว และ กรุวัดพระคง ลักษณะฝีมือเหมือนจะเป็นช่างฝีมือคนเดียวกัน และก็แสดงปางสมาธิคล้ายกับว่าช่างฝีมือจะถอดเอาแบบพระสามองค์ที่ขนาบข้าง แต่ใช้โพธิ์พฤกษ์ขององค์กลาง ซึ่งเหมือนของพระเปิมด้วย มีผ้ารองนั่งฐานบัวพระลือ หน้ายักษ์ เหมือนของพระคง คือฐานบัวเม็ดสองชั้น รายละเอียดในองค์พระเห็นชัดกว่าทุกพิมพ์ เส้นซุ้มประภามณฑลคล้ายคลึงของพระลือหน้ามงคล เหตุนี้กระมังจึงยังคงเรียกว่า พระลือ หรือเพราะว่าขึ้นจากกรุประตูลี้และวัดกู่เหล็กมาด้วยกัน ส่วน พระเลี่ยง พิมพ์เล็ก และ พระเลี่ยงหลวง กลับเรียกแตกต่างออกไปตามลักษณะพิมพ์ทรงกระมัง เท่าที่จำได้ยังมีอีกพิมพ์หนึ่งคล้ายพระเชียงแสน คงมีน้อยเช่นกัน แม้กระทั่งภาพประกอบก็หาไม่ได้ ส่วน พระลือโขง นั้น คุณเชียร ธีรศานต์ ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า พระจามเทวี ซุ้มเรือนแก้ว แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม ยังคงเรียกว่า พระลือโขง คำว่าโขงนั้นเป็นภาษาลานนา (ไม่ใช่ “ล้านนา” คำว่า ล้าน ไม่มีในภาษาลานนา) แปลว่า (ประตูวัดที่มีจั่วซุ้มทรงสูงเหมือนก้นหอยโข่ง) พระลือโขง ก็หมายถึง พระลือซุ้มประตูโขง นั่นเอง ความจริงจะเรียกซุ้มเรือนแก้วก็จะถูกกว่า เพราะไม่ใช่ซุ้มโขง คนเก่าคนแก่ท่านเห็นเหมือนประตูโขงกระมัง จึงเรียกอย่างนี้ ด้วยเหตุที่ว่าพุทธลักษณะยังอยู่ในสกุลช่าง เดียวกันกระมัง จึงยังคงเรียกว่า พระลือ อยู่ เนื่องจากขนาดจะใหญ่เป็นพิเศษ รายละเอียดในพุทธลักษณะจึงปรากฏชัดเจน ใครที่อยากจะรู้ว่าพระลือหน้าตาที่แท้จริงจะเป็นยังไง ก็ให้ดูพระพักตร์พระลือโขงเสียด้วยคือ มีพระพักตร์กลมแก้มยุ้ยทีเดียว อาจเป็นเพราะแย้มแก้มยิ้มเล็กน้อย พระโอษฐ์เล็ก พระหนุมน เปลือกพระเนตรนูน พระขนงเป็นแบบปีกกา มีไรศกแบบเส้นลวดคาดเม็ด พระศกโต มี “จิ่ม” ไม่ปรากฏต่อมพระเมาฬี พระกรรณยานยาว ปลายงอนออกด้านข้าง คล้ายมีตุ้มกุณฑล พระวรกายอ้วนล่ำ มีจีวรห่มเจียง ชายสังฆาฏิยาวเลยพระอุระ ขอบสบงเป็นสัน ประทับนั่งมารวิชัยขัดเพชร ฐานบัวกลีบใหญ่ ที่บางท่านเรียกบัวเหลี่ยมหรือบัวคว่ำบัวหงาย พระหัตถ์ขวาที่แสดงปางมารวิชัยเห็นพระดัชนีทุกนิ้ว มีผ้ารองนั่งข้างเสาเสียบไว้ด้วยดอกบัวมีก้าน เช่นเดียวกับเหนือจั่วซุ้มเรือนแก้ว จะประดิษฐ์ดอกบัวมีก้านเสียบเต็ม จั่วเรือนแก้วที่ชายคาปกติจะเป็น “ครีบนาค” กลับปรากฏดอกบัวมีก้านดอกเล็กๆ แทนที่เชิงชายเป็นลายก้านขด ทำเหมือนหัวกนกนาคที่มีเสารองรับ เมื่อพิจารณาโดยรวมคร่าวๆ ก็จะสามารถวินิจฉัยได้เลยว่าเป็นศิลปะลูกผสมของศิลปะ ซึ่งคลี่คลายเป็นศิลปะละโว้-อโยธยาแล้ว กับศิลปะมอญจากเมืองพุกามที่คลี่คลายเป็นศิลปะนิยมในแคว้นลานนา ในช่วงระยะเวลาต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสร้างก่อนพ่อขุนเม็งรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ปี พ.ศ.1839 ขึ้นไปเล็กน้อย รูปแบบพิมพ์ทรงและพุทธลักษณะพระลือโขง น่าจะประยุกต์มาจากองค์ประธานของพระสาม วัดดอนแก้ว หรือไม่ก็สร้างขึ้นพร้อมๆ กันจากแรงดลใจ เพราะได้เห็นรูปแบบ พระสาม วัดดอนแก้ว ที่คลี่คลายมาจาก พระตรีกาย พิมพ์เขมรผมหวี ศิลปะสมัยลพบุรี นั่นเอง ดังนั้น สามารถกำหนดอายุความเก่าแก่ พระลือโขง, พระลือ หน้ายักษ์, พระลือ หน้ามงคล, พระสาม กรุวัดดอนแก้ว, พระเลี่ยง พิมพ์เล็ก, พระเลี่ยงหลวง, พระเปิม, พระรอด และ พระคง ว่าไม่น่าจะถึง 1,000 ปี ดังที่เคยเชื่อกันมาแต่ดั้งเดิม แต่ พระคง กับ พระรอด คงจะถูกสร้างเป็นรุ่นแรกๆ เพราะเชิงช่างและท่วงทีทางศิลปะเป็นมาตรฐานกว่า ผู้สร้างคงเป็นมอญทวาราวดีครูเดิม หรือผู้สืบเนื่องศิลปะสกุลช่างหริภุญไชยยุคต้น อย่างไม่น่าจะมีอะไรต้องเคลือบแคลง และที่กล่าวข้างต้นว่า พระลือ ได้ชื่อนี้จากพระฤาไทราชนั้น มิได้หมายความว่าพระองค์ทรงสร้างพระลือ เนื่องจากพญาฤาไทยราชกับพระสุมนเถระ คงเข้าไปเผยแพร่พุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์ หลังจากสร้างพระพุทธชินราชเสร็จเมื่อปี พ.ศ.1900 แล้ว เพราะสังเกตพบว่า พระพุทธรูปแบบสิงห์สองและสิงห์สามนั้น ปรากฏนิ้วพระดัชนีเสมอกัน 4 นิ้ว มีเป็นจำนวนมาก ก็เท่ากับสร้างพระพุทธชินราช การตั้งชื่อพระลือเฉลิมพระเกียรติ พระฤาไทราชก็เช่นกัน คงจะให้ชื่อนี้หลังจากพระรอดขึ้นกรุมาพร้อมกับพระลือก่อนสงครามโลก ซึ่งเจดีย์วัดมหาวันพังทลายลงมา เจ้านครลำพูนจึงพบพระรอด พระลือ และอื่นๆ ระหว่างบูรณปฏิสังขรณ์ และที่วินิจฉัยว่า พระลือโขง เป็นศิลปะลูกผสมโดยคลี่คลายจากศิลปะละโว้-อโยธยา กับศิลปะมอญจากเมืองพุกามนั้น มิได้ระบุว่าเป็นศิลปะที่เรียกติดปากกันมาว่า อู่ทอง แต่หมายถึงการคลี่คลายของศิลปะสมัยลพบุรี โดยสกุลช่างเมืองต่างๆ ไม่ใช่ช่างเมืองอู่ทอง ที่ทำให้ต้องเรียกศิลปะที่ถือกำเนิดขึ้นจากการคลี่คลายของศิลปะขอมสมัย ลพบุรีว่าอู่ทอง จะทำให้เกิดความสับสนว่า อู่ทองเข้ามาหริภุญไชยในพุทธศตวรรษที่ 18-19 ได้ยังไง ศิลปะที่เกิดขึ้นเป็นสกุลใหม่นี้ พัฒนาขึ้นทุกเมืองหลังสิ้นอำนาจขอม จึงไม่สมควรเรียกว่า อู่ทอง และเป็นศิลปะสกุลใหม่ ที่ไม่มีเมืองต้นกำเนิดและแพร่ขยายออกไปตามทฤษฎีเก่า เพราะเป็นศิลปะของฝ่ายหินยานที่กำลังขยายวงกว้างในช่วงระหว่างนั้นคือ ลังกาวงศ์ พระพุทธรูปที่สร้างในสมัยนั้นคือการคลี่คลายจากศิลปะสมัยลพบุรี ซึ่งเดิมเป็นแบบแผนหลัก อยู่ในทุกแคว้นของแดนดินถิ่นไทย แต่ละแคว้นก็สร้างพระพุทธรูปแบบคลี่คลายจากศิลปะขอมขึ้นโดยอัตโนมัติ ดูเหมือนจะมีกำเนิดจากแคว้นใดแคว้นหนึ่ง แต่ไม่ใช่ช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18 ทุกแคว้นกำลังพัฒนาศิลปะสกุลช่างในท้องถิ่นคือ สมัยลพบุรีกับศิลปะแบบหินยานหรือลังกาโปโลนนรุวะ และได้พระพุทธรูปลูกครึ่งขอมออกมาเหมือนๆ กัน คือ มีศิลปะขอมแฝงอยู่ บางแห่งบางแคว้นก็มีศิลปะทวาราวดีผสมอยู่ แคว้นสุโขทัยก็เช่นกัน และหริภุญไชยก็ตื่นตัว จึงปรากฏศิลปะสมัยลพบุรี, ทวาราวดี และมอญจากเมืองพุกามผสมกลมกลืน อาจไม่ใช่ศิลปะละโว้-อโยธยา ที่เรียกว่า อู่ทอง ดังเข้าใจกันผิดๆ แต่เรียกมันเสียใหม่ว่า ศิลปะสมัยขอมหมดอำนาจได้ไหม ชื่ออะไรก็ได้ที่ไม่ใช่อู่ทอง หรือละโว้-อโยธยา เพราะอาณาจักรหรือแคว้นใหม่ที่เกิดใหม่ทั้งหลายยังอายุสั้น ไม่น่าที่จะมีเมืองใดเป็นต้นกำเนิด หรือสามารถพัฒนา และแพร่ขยายได้อย่างกว้างขวางดังข้อมูลได้ปรากฏในประวัติศาสตร์ จนเกิดความสับสนหาหลักจับไม่ได้จนกระทั่งบัดนี้ พระลือ หน้ามงคล พระลือ หน้ายักษ์ และ พระลือโขง แม้กระทั่งพระพุทธรูปที่ได้ชื่อว่า “แม่พระรอด” ก็มีไรพระศกแบบแถบเส้นลวด แต่เชื่อไหมว่าถ้าจะเรียกพระพิมพ์พระเครื่องเหล่านี้ว่า พระพิมพ์แสดงศิลปะอู่ทอง คุณก็จะถูกหัวเราะเยาะ บางท่านว่า พระนางจามเทวีมาจากแคว้นละโว้ และเป็นธิดาของกษัตริย์เจ้ากรุงละโว้ พระสวามีเองก็ปกครองอยู่ที่เมืองรามหรือเมืองอโยธยา อาจจะนำเอาช่างฝีมือมาจากแคว้นละโว้-อโยธยา จริงดังที่ตำนานเหนือบอกเล่า และผิดแค่เรื่องปีที่มา ซึ่งตำนานว่าปี พ.ศ.1205 ซึ่งขณะนั้นศิลปะสมัยลพบุรียังไม่เกิด บางท่านว่า กองทัพหริภุญไชย เคยยกลงไปรบกับลพบุรี เกิดศึกสามเส้ากับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 และกษัตริย์เจ้ากรุงละโว้ ย้อนศรมายึดเมืองหริภุญไชย ทำให้ศิลปะสมัยลพบุรีแพร่ขึ้นไปได้ ตำนานเล่มเดียวกันคือ ชินกาลมาลีปกรณ์ ยังบอกกล่าวอีกว่า ละโว้ เคยยกกองทัพมาตีหริภุญไชย ในรัชสมัยพญาอาทิตตราช ศิลปะสมัยลพบุรี อาจขึ้นมาแพร่หลายในศตวรรษเดียวกันนี้เช่นกัน แม้พระองค์สามารถรบชนะละโว้รักษาเอกราชไว้ได้ แต่จะวิเคราะห์เป็นหลักการไม่ได้แม้แต่ประการเดียว เพราะเหตุว่าตำนานเหล่านั้น นักวิชาการก็ออกตัวไว้แล้วว่าเป็นปรัมปราคตินิยม มีปัญหาหรือคำถามคำต่อไปว่า แล้วศิลปะสมัยลพบุรีในรูปที่คลี่คลายแล้วแบบอู่ทองนั้น ขึ้นไปหริภุญไชยได้จากทางไหน? เชื่อเถอะหาคำตอบเป็นหลักไม่ได้ ยิ่งถ้านักวิชาการยืนยันว่า ศิลปะอู่ทองเป็นฝีมือชาวไทยคิดค้นขึ้น ยิ่งไม่ใช่คำตอบ เพราะที่ว่าพระพุทธรูปที่มีศิลปะสมัยทวาราวดีผสมกับศิลปะลพบุรีเป็นอู่ทอง รุ่นที่ 1 นั้น ยิ่งเป็นไปได้ยาก ถ้าจะเชื่อก็เชื่อแบบลอยๆ ไม่มีหลักการอะไรเลย แต่ถ้ารุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 ไม่มีปัญหา และมิได้พัฒนาที่อโยธยา, อยุธยา หรือสุพรรณบุรีด้วย เนื่องจากแสดงอิทธิพลศิลปะสุโขทัยอย่างเข้มข้น ถ้าช่างฝีมือของสุโขทัยไม่ได้สร้าง อยากจะถามว่าเมืองไหนสร้าง? ใน ทัศนะผู้เขียนศิลปะอู่ทอง รุ่นแรก ที่เป็นลูกผสมศิลปะมอญขอมนั้น ผู้สร้างนั้นไม่ใช่คนไทยแน่ และสร้างหลังจากขอมล่มสลายแล้ว ผู้สร้างก็คือ มอญทวาราวดีที่นับถือหินยานและมีข้อพิพาทในระหว่างผู้นับถือพุทธศาสนาข้าง หินยานแบบทวาราวดีเดิมกับมหายาน ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 17 รัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ดังหลักฐานในศิลาจารึกค้นพบที่ศาลพระกาฬ แต่ขอมนับถือมหายานมีอำนาจเหนือมอญ แม้พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 จะได้เสด็จมาไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ก็ยังคงอยู่จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อแคว้นละโว้อ่อนแอลง และอโยธยาของมอญกลายเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครอง ศิลปะแบบอู่ทองรุ่นแรกนั้น ไม่ว่าจะพบที่ไหนกรุงละโว้-อโยธยา, หริภุญไชย, สุโขทัย, เพชรบูรณ์, เมืองสรรค์ ชัยนาท, อยุธยา, สุพรรณบุรี มอญสร้างทั้งนั้นแหละไม่ใช่คนไทย จนกระทั่งต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ล่วงมาแล้วนั่นแหละ คนไทยจึงเริ่มมีบทบาท เพราะฉะนั้นเราต้องเลิกหลอกตัวเองเสียที หลายท่านอาจจะมีความเข้าใจ ศิลปะสกุลช่างหริภุญไชยคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เพราะเหตุว่าถูกมอมเมามานานแล้ว เป็นศิลปะชาวไทยจังหวัดลำพูน ความจริงศิลปะสกุลช่างหริภุญไชยก็คือ ศิลปะมอญเก่าสมัยทวาราวดีกับศิลปะสมัยลพบุรีที่คลี่คลายแล้ว โดยมอญเก่าผสมผสานกับศิลปะสกุลช่างมอญฝั่งเมืองพุกามหรือพม่า (ไม่ใช่ศิลปะเมืองพุกามโดยตรง) หรือมอญใหม่ ศิลปะมอญเท่าสมัยทวาราวดีก็คือ ศิลปะอินเดีย ที่มีลักษณะผสมศิลปะอินเดีย สมัยราชวงศ์คุปตะกับสมัยราชวงศ์ปาละ และชนเผ่ามอญเป็นผู้สร้าง เป็นพุทธศิลป์ฝ่ายหินยาน ศิลปะสกุลช่างสมัยลพบุรีที่คลี่คลายแล้ว หมายถึง ศิลปะลูกผสม ที่อาจจะมีทั้งช่างฝีมือขอมและมอญเก่าพัฒนาขึ้นมา โดยจุดประสงค์คล้ายคลึงกันก็คือ พยายามรักษาเอกภาพของแคว้นหรืออาณาจักร เนื่องจากสถานภาพทางการเมืองของขอมและมอญ เริ่มเปลี่ยนแปลง ภาษาศิลปะเราเรียกอย่างสุภาพว่า คลี่คลาย เพราะสมัยประมาณพุทธศตวรรษที่ 18-19 นั้น ฝ่ายปกครองมอญขอมหรือมอญ-ขแมร์ ยังใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหลักในการปกครองและสุดท้าย ศิลปะสกุลช่างมอญฝั่งเมืองพุกาม หมายถึง ศิลปะอินเดีย ของสกุลช่างปาละเสนาผสมกับศิลปะลังกา ที่มอญฝั่งเมืองพุกามยอมรับนับถือรู้จักในประเทศไทย ตอนภาคเหนือถิ่นลานนาว่า รามัญวงศ์ ความจริงก็คือ ลังกาวงศ์ที่แพร่เข้ามาในยุคแรกๆ ประมาณปี พ.ศ.1601 เป็นต้นมา ช่วงใดช่วงหนึ่ง จนกระทั่งถึง พ.ศ.1701 ในหริภุญไชยยุคปลายนั้น ชนเผ่าไทเริ่มมีบทบาทเข้ามากแล้ว โดยมีราชวงศ์ไทยอมาตย์หรือไทยอำมาตย์ ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.1835 พ่อขุนเม็งราย, พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหง รวมกำลังกันยึดเมืองหริภุญไชย จากมอญใหม่ฝั่งเมืองพุกาม กับชนเผ่าที่ตำนานเรียกว่า “ขอมดำ” ซึ่งคุมอำนาจการปกครองได้สันนิษฐานว่า ก่อนหริภุญไชยล่มสลาย พระพุทธรูปและพระพิมพ์พระเครื่องสกุลช่างหริภุญไชยยุคปลาย น่าจะมีของสกุลช่างไทยสร้างไว้บ้างจำนวนหนึ่ง เพราะว่า พระลือ หน้ามงคล พระลือ หน้ายักษ์ พระลือโขง พระเปิม และ พระสาม มีลักษณะเป็นธรรมชาติเรียบง่าย ซึ่งแสดงถึงจิตวิญญาณชนเผ่าไทยพื้นบ้าน ที่ห่างเหินศิลปะวัฒนธรรมของมอญ-ขแมร์ ที่ซับซ้อนกว่า

สินค้าใกล้เคียงในหมวด

พระเครื่อง

ร้านค้าออนไลน์ , ขายของออนไลน์

SiamShop.com ผู้ให้บริการด้าน ร้านค้าออนไลน์ เปิดร้านค้าออนไลน์

โดยทีมงานที่มีประสบการณ์การทำเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์กว่า 6 ปี
© Copyright 2024 All right reserved. SiamShop.com

ติดต่อเปิดร้านค้าออนไลน์ได้ที่ [email protected]

เวลาทำการ : จ-ศ 8:30-17:30 น.